อีกหนึ่งโรคระบาดในเด็กที่มักจะพบเจอทุกปี ในช่วงเข้าฤดูฝนแบบนี้ นั่นก็คือ โรค มือ เท้า ปาก เป็นโรคติดต่อที่สามารถแพร่และส่งต่อเชื้อโรคได้อย่างง่ายดาย
แล้วยิ่งช่วงนี้เป็นช่วงเปิดเทอมที่เด็ก ๆ เริ่มเดินทางไปโรงเรียนได้ ต้องพบปะผู้คน และสิ่งต่าง ๆ มากมาย จึงมีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดโรคนี้ได้ ผู้ปกครองจึงควรเฝ้าระวังและทำความเข้าใจ เพื่อป้องกันลูกรักให้ห่างไกลจาก โรค มือ เท้า ปาก
โรค มือ เท้า ปาก เกิดจากอะไร?
มือ เท้า ปาก เป็นโรคติดต่อที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัส กลุ่ม Enterovirus (เอนเทอโรไวรัส) โดยสายพันธุ์ที่มีเชื้อรุนแรงที่สุดคือ คอกซากีไวรัส เอ16 (Coxsackievirus A16) และเอนเทอโรไวรัส 71 (Enterovirus 71) พบการระบาดได้บ่อยในช่วงฤดูฝน ช่วงที่มีสภาพอากาศเย็นและชื้น ส่วนมากมักพบในกลุ่มเด็กทารก และเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 5 ปี
อาการแสดงของโรค
ส่วนใหญ่จะเริ่มจากอาการมีไข้ อ่อนเพลีย และจะเริ่มมีแผลในปากคล้ายกับแผลร้อนใน ทำให้เจ็บปาก ทานอาหารได้น้อยลง มีผื่นแดง หรือลักษณะเป็นตุ่มใส ขึ้นบริเวณฝ่ามือ ฝ่าเท้า และตามข้อพับ ซึ่งอาการจะหนักในช่วง 2 – 3 วันแรก และจะค่อย ๆ ดีขึ้น จนหายเป็นปกติใน 1 สัปดาห์
นอกจากนี้คุณพ่อคุณแม่ควรระวังการเกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรงที่อาจเกิดขึ้นได้ในเด็กที่เป็นโรค มือ เท้า ปาก เช่น เยื่อหุ้มสมองอักเสบ สมองอักเสบ แขนขาอ่อนแรงเฉียบพลัน ไปจนถึงกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ หรือภาวะระบบไหลเวียนโลหิตล้มเหลว โดยสามารถสังเกตอาการผิดปกติที่เป็นสัญญาณของภาวะแทรกซ้อนได้ดังนี้
- มีอาการซึม
- อาเจียน ไม่อยากทานอาหาร ทานอาหารไม่ได้
- มีอาการไอ หายใจเร็ว หอบเหนื่อย หน้าซีด
- มีอาการทางระบบประสาท เช่น ปวดศีรษะรุนแรง การรับรู้สับสน พูดเพ้อไม่รู้เรื่อง กล้ามเนื้อกระตุก ชัก ไม่รู้สึกตัว เป็นต้น
ซึ่งหากพบอาการเหล่านี้ คุณพ่อคุณแม่ควรรีบพาลูกรักไปพบแพทย์ทันที
การแพร่และการติดต่อ
มือ เท้า ปาก สามารถติดต่อจากคนสู่คนได้โดยการสัมผัสโดยตรงกับน้ำลาย น้ำมูก ผื่นแดง ตุ่มใส ของผู้ป่วย มักเกิดการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสในเด็กที่อยู่ร่วมกันเป็นจำนวนมาก สามารถแพร่เชื้อได้ตั้งแต่ผู้ป่วยเริ่มมีอาการ โดยจะส่งต่อเชื้อได้ดีในช่วงระยะเวลา 7 วันแรกหลังมีอาการ และถึงแม้ว่าจะหายดีเป็นปกติแล้ว ก็ยังสามารถตรวจพบเชื้อในอุจจาระได้อีกระยะหนึ่ง
การรักษาและดูแลป้องกัน
โดยทั่วไปแล้วแพทย์จะทำการรักษาตามอาการ เช่น ให้ทานยาลดไข้ หรือเช็ดตัวเมื่อมีไข้ พยายามให้ทานน้ำ อาหารอ่อน หรือนม ให้ยาแก้ปวด ยาชา หรือยาทาแก้เจ็บแผลในปาก ในผู้ป่วยที่เจ็บแผลในปาก เจ็บคอ จนทานอาหารได้น้อย หรือทานไม่ได้เลย และในผู้ป่วยที่มีอาการอ่อนเพลียมากอาจมีการให้น้ำเกลือร่วมด้วย เป็นต้น
การดูแลเด็กที่ป่วยโรค มือ เท้า ปาก ที่บ้านสามารถทำได้โดย
- ให้เด็กที่มีอาการป่วยหยุดเรียนอยู่ที่บ้าน หลีกเลี่ยงการพาไปสถานที่ชุมชน จนกว่าอาการจะดีขึ้น ประมาณ 7-10 วัน เพื่อลดการแพร่กระจายของเชื้อ
- ให้ทานอาหารอ่อน และควรแยกภาชนะในการดื่มน้ำ ทานอาหาร
- ปิดปาก ปิดจมูก ขณะไอ จาม และระมัดระวังในการทิ้งกระดาษชำระหรือผ้าอ้อมสำเร็จรูปในถังที่ปิดมิดชิด
- ล้างมือให้สะอาด ควรทำความสะอาดสิ่งของที่อาจสัมผัสสารคัดหลังของผู้ป่วย
- ให้ยา และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์
และเนื่องจากในปัจจุบันยังไม่มีการรักษาโดยเฉพาะ หรือวัคซีนป้องกันโรค มือ เท้า ปาก สิ่งสำคัญที่สุดคือการดูแลรักษาสุขอนามัยของลูกรัก เพื่อเป็นการป้องกันและหลีกเลี่ยงการติดเชื้อ
- หลีกเลี่ยงการใกล้ชิดกับผู้ที่มีอาการป่วย
- หลีกเลี่ยงการใช้ภาชนะหรือสิ่งของร่วมกับผู้อื่น
- หมั่นรักษาอนามัยของลูก ให้ล้างมือให้สะอาดก่อนทานอาหาร หลังจากสัมผัสน้ำมูกหรือน้ำลาย หรือหลังการขับถ่าย
- ดูแลรักษาความสะอาดของสิ่งของที่อยู่รอบตัวอยู่เสมอ
- ควรรับประทานอาหารที่ปรุงสุกและดื่มน้ำสะอาด พักผ่อนให้เพียงพอ
- ควรอยู่ในที่ที่อากาศถ่ายเทสะดวก มีแสงแดดส่องถึง
- หากสังเกตเห็นถึงอาการของโรคควรรีบพาไปพบแพทย์ทันที
Hi, this is a comment.
To get started with moderating, editing, and deleting comments, please visit the Comments screen in the dashboard.
Commenter avatars come from Gravatar.